Read More
29 Jan 2020
เชื่อหรือไม่ว่า ปลาทูน่าเป็นอุตสาหกรรมระดับโลกที่มีมูลค่าถึงหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 8% ของการค้าอาหารทะเลโลก ...
ประโยคเกริ่นนำพาทุกคนเข้าสู่งานแถลงข่าว “จากทะเลสู่กระป๋อง:การจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องไทย” ของ ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ห้องประชุมหลังสวน1 โรงแรมเซ็นเตอร์พ้อยท์ ชิดลม
ธารา บัวคำศรี แสดงตัวเลขในปี 2556 ว่ามีการจับปลาทูน่าถึง 4.6 ล้านตัน ที่สำคัญคือปลาทูน่าคือสัตว์ทะเลที่ติด 1 ใน 5 ของอาหารทะเลที่มีคนบริโภคทั่วโลก
ทั้งนี้ปลาทูน่ามีทั้งหมด 40 สายพันธุ์ มีเพียงแค่ 5 สายพันธุ์เท่านั้นที่นิยมนำมาบริโภคกัน คือ ปลาทูน่าพันธุ์ครีบยาว ปลาทูน่าพันธุ์ตาโต ปลาทูน่าพันธุ์ครีบน้ำเงิน ปลาทูน่าท้องแถบ และปลาทูน่าพันธุ์ครีบเหลือง
ในรายงานของกรีนพีช ระบุรายละเอียดของแต่ละสายพันธุ์ไว้ดังนี้
ปลาทูน่าพันธุ์ครีบยาว (Albacore Tuna) พบในผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ ตั้งแต่ กระป๋อง รมควัน และสด สถานะใกล้ถูกคุกคาม เนื่องจากจำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็วและบางชนิดมีการประมงเกินขนาด
ปลาทูน่าพันธุ์ตาโต (Bigeye Tuna) นิยมนำมาทำสเต็กทูน่า ซูชิ หรือซาชิมิ แต่ปลาทูน่าตาโตขนาดเล็กสามารถนำมาทำปลากระป๋อง สถานะอย่างเป็นทางการคือเสี่ยง และเพิ่งเข้าภาวะใกล้สูญพันธุ์ด้วยประชากรที่ลดลงและบางชนิดมีการประมงเกินขนาด
ปลาทูน่าพันธุ์ครีบน้ำเงิน (Bluefin Tuna) เป็นสัญลักษณ์ของปลาทูน่าที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์สูงที่สุด ปลาทูน่าสายพันธุ์นี้มีสามชนิด ได้แก่ แอตแลนติก แปซิฟิก และเซาเทอร์น พบได้ในร้านอาหารญี่ปุ่นระดับหรูที่นำมาทำซาชิมิ หรือซูชิ ปัจจุบันอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ หากแนวโน้มของสถานการณ์ยังเหมือนเดิม เรียกได้ว่าปลาทูน่าสายพันธุ์นี้อาจต้องเผชิญกับการสูญพันธุ์เชิงพาณิชย์ในเขตแปซิฟิก
ปลาทูน่าพันธุ์ท้องแถบ (Skipjack) พบได้ในทูน่ากระป๋องและอาหารแมว ส่วนใหญ่ติดฉลาก “light tuna” ซึ่งสายพันธุ์นี้ยังไม่มีการทำประมงในอัตราเกินขนาด แต่หากยังดำเนินการประมงในอัตราที่มากเช่นปัจจุบัน ในอนาคตก็อาจส่งผลให้กลายเป็นประมงที่เกินขนาดได้
นอกจากนี้บางครั้งสายพันธุ์ตาโตและครีบเหลืองก็ถูกจับรวมไปกับพันธุ์ท้องแถบและถูกรวมอยู่ในทูน่ากระป๋องเดียวกัน
ปลาทูน่าพันธุ์ครีบเหลือง (Yellow fin) ส่วนใหญ่นิยมนำมาทำสเต็กทูน่า ซาชิมิหรือซูชิ แต่ก็พบทำทูน่ากระป๋อง สถานะปัจจุบันใกล้ภาวะคุกคาม ด้วยจำนวนประชากรทั้งหมดลดลงและบางชนิดมีการประมงเกินขนาด
สำหรับปลาทูน่าที่ได้รับความนิยมมาทำปลากระป๋องถึง 58% คือ ปลาทูน่าพันธุ์ท้องแถบ
ถามว่า เหตุใดกรีนพีซจึงต้องทำแบบสำรวจหรือรายงานความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในประเทศไทยนั้น ธารา อธิบายว่า หากดูจากตัวเลขการไหลเวียนของการค้าในอุตสาหกรรมปลาทูน่าปัจจุบัน และปริมาณการนำเข้าปลาทูน่าแช่แข็งจากประเทศต่างๆ มายังประเทศไทยมีปริมาณค่อนข้างมาก ส่งผลให้ไทยเป็นผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องเป็นลำดับต้นๆของโลก เนื่องจากอุตสาหกรรมทูน่าขนาดใหญ่หลายแห่งตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบริษัทระดับโลกหลายแห่งมีฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศไทย
นอกเหนือจากรสชาติความอร่อยและกลมกล่อมของผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องที่ผู้บริโภคล้วนต้องการเมื่อเปิดฝากระป๋องออกมาแล้ว สำหรับกรีนพีซฯ อยากให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลมากกว่ารสชาติว่า อะไรอยู่ภายในกระป๋องนั้นบ้าง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรปลาทูน่าเพื่อประโยชน์ของคนรุ่นต่อไป
กรีนพีซกำหนดหลักเกณฑ์การจัดอันดับหรือตรวจสอบทูน่ากระป๋อง ด้วยการส่งแบบสำรวจอย่างละเอียดไปยังผู้ผลิตและจัดจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องทั้งหมด 14 แบรนด์ คือ ทีซีบี คิงส์คิทเช่น นอติลุส ซีคราวน์ ซีเล็ค โอเชี่ยนเวฟ เทสโก้โลตัส แอโร่ บรูก ท็อปส์ อะยัม บิ๊กซี โฮมเฟรชมาร์ท และโรซ่า
กรีนพีซได้สอบถามถึงนโยบายและการปฏิบัติในการจัดหาวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า รวมถึงเครื่องมือประมงที่ใช้ในการจับปลาทูน่าว่ามีการทำลายทรัพยากรและสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น การจับฉลามเพื่อเอาครีบหรือไม่ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ถึงแหล่งที่มาได้หรือไม่
นอกจากนี้ยังสอบถามถึงความเป็นธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมของในแต่ละแบรนด์
หลายคนอาจสงสัยว่า มาตรฐานของกรีนพีซที่ว่าคืออะไร คำว่า สอบตกหรือต้องปรับปรุงหมายถึงตัวสินค้าของผลิตภัณฑ์นั้นไม่มีคุณภาพหรือไม่ ในรายงานการจัดอันดับความยั่งยืนจากทะเลสู่กระป๋องอธิบายหลักเกณฑ์ทั้ง 7 ไว้ดังนี้
1.ผลิตภัณฑ์ต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับ หมายความว่า สามารถตรวจสอบย้อนกลับที่มาของปลาทูน่าตั้งแต่ในทะเลจนเข้าสู่กระป๋องและการวางจำหน่ายในชั้นวาง มีการตรวจสอบเพื่อรับประกันว่าข้อมูลถูกต้อง
2.ความยั่งยืน ต้องมีการพิจารณาทั้งสถานภาพของสายพันธุ์ปลาทูน่าที่จับได้และวิธีการจับ
3.ความถูกต้องตามกฎหมาย คือมีการเกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงานและขาดการควบคุม หรือเป็นการตรวจสอบทางบริษัทรับประกันว่าจะไม่มีการนำปลาที่จับด้วยการประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงานและขาดการควบคุมเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง
4.ความเป็นธรรม นี่คือหลักประกันเพื่อคุ้มครองคนงานและชุมชนในพื้นที่ และประกันให้มีการจ่ายคืนผลกำไรที่เป็นธรรมแก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบริษัทควรจะทราบว่าใครเป็นผู้จับปลาทูน่ามาให้ แล้วพวกเขาเหล่านั้นมีการปฏิบัติอย่างไร
5.นโยบายการจัดหาแหล่งวัตถุดิบ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนบริษัทควรจะมีนโยบายที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับความยั่งยืนและความเป็นธรรม โดยกำหนดหลักเกณฑ์จัดหาแหล่งวัตถุดิบ และมุ่งเป้าหมายในกรอบเวลาและหลีกเลี่ยงวิธีทำประมงแบบไม่เลือกเป้าหมายหรือทำลายล้าง
6.ความโปร่งใสและข้อมูลเพื่อผู้บริโภค โดยสนับสนุนให้ผู้บริโภคตัดสินใจอย่างมีความรู้ มีการอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าในกระป๋อง หรือให้ผู้บริโภคสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ได้สะดวก
7.การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยทางบริษัทจะต้องสนับสนุนหรือลงทุนให้การพัฒนาการประมงที่ยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้น
"อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล" ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกถึงผลการประเมินจากแบบสอบถามและมาตรฐานทั้ง 7 ข้อ พบว่า 14 แบรนด์ที่จัดจำหน่ายในไทย มี 5 แบรนด์ที่อยู่ในเกณฑ์ปรับปรุง คือ ท็อปส์ อะยัม บิ๊กซี โฮมเฟรช มาร์ท และโรซ่า
ส่วนแบรนด์ที่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ได้แก่ ทีซีบี คิงส์คิทเช่น นอติลุส ซีคราวน์ ซีเล็ค โอเชี่ยนเวฟ เทสโก้โลตัส แอโร่ และบรูก ทั้งนี้จะเห็นว่าใน 14 แบรนด์ที่กล่าวมาไม่มีแบรนด์ใดเลยที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี หมายความว่า แต่ละแบรนด์จะต้องพยายามมากขึ้นในการดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืน
"สิ่งสำคัญแรกสุดคือขั้นตอนการดำเนินนโยบายตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ เพราะนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการปกป้องทะเลและมหาสมุทรที่จะต่อกรกับการทำประมงแบบผิดกฎหมายและทำลายล้าง รวมถึงการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน"
อัญชลี ระบุว่า จากการจัดอันดับแม้ ทีซีบี ที่ได้รับคะแนนสูงสุด แต่ก็ยังไปไม่ถึงเกณฑ์ที่ดีนั้น เนื่องจาก ทำคะแนนได้มากทางด้านการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ที่มีนโยบายแหล่งที่มา แต่ยังต้องปรับปรุงในด้านความยั่งยืนและเป็นธรรม เนื่องจากมีการใช้ปลาทูน่าครีบเหลืองและปลาทูน่า Tonggol ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์มีปัญหาในเรื่องจำนวนประชากรรวม
นอกจากนี้สัปดาห์ที่ผ่านมา กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังได้เปิดเผยรายงาน "การจัดอันดับโรงงานปลาทูน่ากระป๋องในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์" ซึ่งพบว่าโรงงานปลาทูน่ากระป๋องในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียส่วนใหญ่ยังขาดมาตรฐานระดับสากลในด้านการดำเนินการอย่างรับผิดชอบ ทั้งในด้านการตรวจสอบย้อนกลับ ความยั่งยืน และความเป็นธรรม ฉะนั้นการขาดการตรวจสอบย้อนกลับ และความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานทูน่าจึงเป็นปัญหาที่พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เธอบอกว่า การส่งเสริมมาตรฐานด้านแรงงาน และการตรวจสอบย้อนกลับที่เข้มแข็งโดยการพัฒนานโยบายจัดหาวัตถุดิบที่สาธารณะชนเข้าถึงได้และทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ อุตสาหกรรมทูน่ารายใหญ่เองก็มีความรับผิดชอบ จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ที่สำคัญผู้บริโภคเองก็มีบทบาทในการสนับสนุนและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีการตรวจสอบย้อนกลับความยั่งยืนและความเป็นธรรม
ดังนั้นวันนี้หากเราทุกคนร่วมด้วยช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องที่ซื้อรับประทานกันอยู่ทุกวัน เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ระบบนิเวศน์พร้อมผลักดันให้เกิดการทำประมงปลาทูน่าที่เป็นธรรมและยั่งยืน คงไม่ใช่เรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรง...
ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจากเว็บไซต์กรีนพีซและวิกิพีเดีย และข้อมูลจาก isranews.org